มาตรฐานค่าแสงสว่าง ที่ถูกต้องตามกฏหมาย
สำหรับพื้นที่สาธารณะและสถานประกอบการต่าง ๆ ความปลอดภัยของผู้ใช้งานถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ การออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องของค่าแสงสว่างที่ช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการมองเห็น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน หรือปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับสายตา เช่น ความเมื่อยล้าของดวงตา หรืออาการปวดตาในระยะยาวได้
ในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับความหมายและความสำคัญของค่าแสงสว่าง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเข้มของแสงสว่าง รวมถึงอุปกรณ์ในการตรวจวัดและค่าความสว่างมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับสถานประกอบการ
ค่าแสงสว่าง คืออะไร?
ค่าแสงสว่าง หรือ ความเข้มของแสงสว่าง อ้างอิงจากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ได้ให้นิยามของ “ความเข้มของแสงสว่าง” เอาไว้ว่า ปริมาณแสงที่ตกกระทบต่อหนึ่งหน่วยตารางเมตร โดยใช้หน่วยความเข้มของแสงสว่างเป็นลักซ์ (lux)
โดยค่าลักซ์จะช่วยในการระบุว่าปริมาณของแสงสว่างในพื้นที่นั้น ๆ มีมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อนำไปใช้ในการเลือกหลอดไฟหรือแหล่งกำเนิดแสงที่มีความสว่างเพียงพอต่อการใช้งาน
ความสำคัญของค่าแสงสว่าง
ค่าแสงสว่างนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและการใช้งานในหลากหลายพื้นที่ เพราะแสงสว่างที่เหมาะสม
จะช่วยให้การทำงานในแง่ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
1. การมองเห็นและความปลอดภัย
ค่าแสงสว่างที่เพียงพอจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน ลดความเมื่อยล้าของดวงตา และป้องกันปัญหาสายตาต่าง ๆ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือการก่ออาชญากรรมในพื้นที่ที่มีความเปลี่ยวและมีแสงน้อย ยกตัวอย่าง การขับขี่รถยนต์บนท้องถนน แสงสว่างที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการมองเห็นที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยบนท้องถนน การตรวจสอบระบบไฟส่องสว่างของรถยนต์ให้ได้ค่ามาตรฐานแสงสว่างที่ถูกต้อง รวมถึงตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก ที่ ศูนย์นิสสัน มีช่างผู้เชี่ยวชาญพร้อมดูแลครบวงจร เมื่อสภาพรถพร้อม จะช่วยให้การเดินทางของคุณราบรื่นและปลอดภัย และถือเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี
2. ประสิทธิภาพในการทำงาน
การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มสมาธิและลดความผิดพลาด ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. การออกแบบและติดตั้งแหล่งกำเนิดแสง
การวัดค่าแสงสว่างมาตรฐาน เป็นขั้นตอนสำคัญในการออกแบบและติดตั้งแหล่งกำเนิดแสง ช่วยให้ได้แสงสว่างที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาได้อย่างแม่นยำ